วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดแห่งเดียวในอยุธยาที่อยู่ในพระราชวังโบราณ อีกทั้งยังเป็นวัดเดียวในอยุธยาที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา และวัดพระศรีสรรเพชญ์นี่แหละที่เป็นต้นแบบของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว
วัดราชบูรณะ ในปี พ.ศ. 1967 เจ้าสามพระยาซึ่งขณะนั้นเสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 โปรดให้สร้างวัดราชบูรณะขึ้นในบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระศพเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา หลังจากที่ทรงสิ้นพระชนม์เนื่องจากการช่วงชิงราชบัลลังก์ กรมศิลปากรขุดพบเครื่องทองจำนวนมากใต้กรุภายในพระปรางค์ประธาน ปัจจุบันเครื่องทองถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสามพระยา
วิหารมงคลบพิตร วัดอารามหลวงในกำแพงเมือง ทางทิศใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระประธานของวิหารคือพระมงคลบพิตร สันนิษฐานว่าพระมงคลบพิตรถูกสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระไชยราชา ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามได้มีการบูรณะพระมงคลบพิตรครั้งใหญ่ และพบพระโบราณจำนวนมากอยู่ที่พระอุระด้านขวาของพระมงคลบพิตร ปัจจุบันพระพุทธรูปเหล่านั้น ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ จันทรเกษม และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
วัดหน้าพระเมรุ วัดหน้าพระเมรุมีชื่อทางการว่า ‘วัดพระเมรุราชิการามวรวิหาร’ เป็นวัดสำคัญหนึ่งเดียวในอยุธยาที่ไม่ถูกพม่าเผาทำลายเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 หน้าบันทำเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑยุดนาค แสดงว่าเป็นวัดพระอารามหลวง ผังวัดเปรียบโบสถ์เป็นเขาพระสุเมรุตามคติความเชื่อแบบอินเดียโบราณผสมกับแนวความเชื่อไทยพุทธช่วยกลางอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์
อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เป็นมรดกโลกบนพื้นที่ 3,000 ไร่ ประกอบไปด้วยวัดโบราณที่ยังคงมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่กว่า 10 วัด เช่น วิหารมงคลบพิตร วัดพนัญเชิง ซากโบราณสถานกว่า 365 แห่ง เช่น วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดไชยวัฒนาราม
พระนครศรีอยุธยาเริ่มต้นขึ้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนาพระนครศรีอยุธยาขึ้นในปี พ.ศ. 1893 และล่มสลายลงในปี พ.ศ. 2310 เนื่องจากการเสียกรุงครั้งที่ 2 ให้กับพม่า ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้มีการฟื้นฟู โบราณสถานในอยุธยาขึ้น ต่อมารัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้พระยาโบราณราชธานินทร์ ขุดและปรับแต่งโบราณสถานในอยุธยา
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2474 กรมศิลปากรได้ประกาศให้โบราณสถาน 69 แห่งในเกาะเมืองอยุธยาเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ จากนั้นในปี พ.ศ. 2519 มีการจัดทำโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยาขึ้น เพื่อกรมศิลปากรจะได้เข้าไปขุดค้นและบูรณะโบราณสถานเหล่านั้น รวมพื้นที่ขณะนั้น 1,810 ไร่ ประกอบไปด้วย พระราชวังโบราณวัด, พระศรีสรรเพชญ์, วัดมหาธาตุ, วัดราชบูรณะ, วัดพระราม และวิหารมงคลบพิตร
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2534 อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกพร้อมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร
ในปี พ.ศ. 2540 กรมศิลปากรได้ประกาศเพิ่มเนื้อที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยามีเนื้อที่ทั้งหมด 3,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่โบราณสถานต่างๆ อาทิ พระราชวังจันทรเกษม กำแพงป้อมปราการกรุงเก่า วัดใหญ่ชัยมงคล วัดไชยวัฒนาราม วัดพนัญเชิง วัดกษัตราธิราชวรวิหาร หมู่บ้านโปรตุเกส หมู่บ้านฮอลันดา หมู่บ้านญี่ปุ่น เพนียดคล้องช้าง โบสถ์นักบุญยอเซฟ วัดพุทไธศวรรย์ วัดหน้าพระเมรุ
วัดชัยวัฒนาราม เป็นวัดหลวงที่บำเพ็ญพระราชกุศลและที่ถวายพระเพลิงเจ้านายทุกพระองค์ แม้แต่พระอัฐิเจ้าฟ้ากุ้งก็ถูกเก็บรักษาไว้ที่นี่ วัดเดียวที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงชัยชนะเหนืออาณาจักรขอม ผังวัดจำลองมาจากนครวัด และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อปี พ.ศ. 2535
วัดชัยวัฒนารามหรือวัดไชยวัฒนาราม สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2173 พระเจ้าประสาททองทรงดำริสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นพระราชกุศลแด่พระราชมารดา เพราะที่แห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของพระราชมารดามาก่อน อย่างไรก็ดีนักวิชาการหลายท่านกลับเห็นว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูงที่วัดชัยวัฒนารามจะถูกสร้างขึ้นเพื่อรำลึกว่าครั้งหนึ่งอยุธยาเคยกำชัยชนะเหนือเมืองละแวก เมืองหลวงของอาณาจักรเขมร เพราะ
วัดชัยวัฒนารามจำลองรูปแบบมาจากนครวัด
เดิมวัดชัยวัฒนารามมีชื่อว่าวัดชัยชนะอารามเมืองละแวกถูกพระเนรศวรมหาราช พระปิตุลา (ลุง) ของพระเจ้าปราสาททองตีแตกในปี พ.ศ. 2136 จนสมเด็จพระสัตถากษัตริย์เขมรต้องหนีไปอยู่ล้านช้าง กระทั่งสมเด็จพระรามเชิงไพรรวบรวมคนขับไล่ทัพสยาม สมเด็จพระเนรศวรทรงส่งพระมหามนตรีไปทำศึกแต่พ่ายแพ้ เป็นเหตุให้เขมรประกาศอิสรภาพอีกครั้งในปี พ.ศ. 2138
พระเจ้าปราสาททองทรงเคยรับราชการในตำแหน่งเจ้าพระยากลาโหม จึงเป็นไปได้ว่าจะทรงภูมิใจกับการที่อยุธยามีชัยเหนือเขมรในครั้งนั้น
นับแต่สร้างวัดขึ้นมา วัดชัยวัฒนารามก็เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลของกษัตริย์ทุกพระองค์และเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงกษัตริย์ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์อีกด้วย นอกจากนี้วัดชัยวัฒนารามยังมีอีกหนึ่งความสำคัญคือ วัดแห่งนี้เป็นที่มาของพระนามสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แต่เดิมเมื่อครั้งขึ้นเสวยราชสมบัติ พระองค์ท่านทรงเฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตร (พระนามเดียวกับพระราชบิดา) แต่หลังจากที่สร้างวัดชัยวัฒนารามแล้ว เนื่องจากยอดของปรางค์ประธานเปรียบเสมือนที่สถิตของปราสาทไพชยนต์วิมานตามคติความเชื่อแบบขอม อีกทั้งยังปิดทองทั่วทั้งองค์ ผู้คนจึงเรียกปรางค์ประธานของวัดชัยวัฒนารามว่า ‘’ปราสาททอง” และเรียกพระเจ้าอยู่หัวผู้โปรดให้สร้างปราสาททองนี้ว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองด้วย
วัดไชยวัฒนารามเป็นหนึ่งในวัดที่ถูกเผาทำลายเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2474 วัดชัยวัฒนารามได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ และในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2535 วัดชัยวัฒนาราม ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
วิหารพระมงคลบพิตร ตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทางทิศใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ มีจุดเด่นที่สำคัญคือ เป็นวิหารเก่าแก่ในเขตกำแพงเมือง ที่ได้รับการบูรณะอย่างดี ภายในวิหารมีพระมงคลบพิตร พระพุทธรูปประธานขนาดใหญ่ที่เสียหายตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง แต่ได้รับการบูรณะใหม่ทั้งหมด ด้วยทองสำริดหุ้มทองตามปัจจุบัน
วัดมหาธาตุ เป็นปูชนียสถาน วัดพระอารามหลวงที่ประทับสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายคามวาสี โดดเด่นด้วยพระปรางประธานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมพระปรางค์ขนาดกลางเรียงราย และไฮไลท์ของวัดที่นักท่องเที่ยวจะพลาดไม่ได้ คือ เศียรพระพุทธรูปที่ถูกโอบล้อมด้วยรากโพ
วัดมหาธาตุเป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 1917 สมัยขุนหลวงพระงั่ว หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 และมาสร้างแล้วเสร็จในสมัยสมเด็จพระราเมศวร ในปี พ.ศ. 1927 สมเด็จพระราเมศวรทรงอัญเชิญพระบรมสารีรกธาตุไปบรรจุไว้ในพระปรางค์ประธาน
วัดมหาธาตุเป็นวัดพระอารามหลวงและเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายคามวาสีมีตำหนักของท่านอยู่ทางทิศตะวันตก วัดมหาธาตุเป็นวัดที่ใช้ประกอบพระราชพิธีทางศาสนาต่างๆ กระทั่งมีการสร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ขึ้น จึงได้ย้ายไปประกอบพิธีกรรมที่วัดพระศรีสรรเพชญ์แทน
ลักษณะเด่นของวัดมหาธาตุคือมีวิหารขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้าของวัด พระปรางค์ประธานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ตรงกลาง ส่วนอุโบสถอยู่ด้านหลัง โดยพระปรางค์ประธานจะเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ซึ่งแตกต่างจากวัดในสมัยรัตนโกสินทร์ที่จะเปรียบโบสถ์เสมือนเป็นเขาพระสุเมรุ นอกจากนี้แทนที่จะมีกำแพงแก้วรอบโบสถ์กลับมีวิหารคดรอบองค์พระปรางค์ประธานแทน
วัดหน้าพระเมรุ ตั้งอยู่ที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ริมคลองสระบัวด้านเหนือของคูเมือง (แม่น้ำลพบุรีเก่า) ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง มีชื่อเดิมว่า "วัดพระเมรุราชการาม" แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างในสมัยใด พิจารณาได้ว่า น่าจะเป็นวัดสร้างขึ้นตรงที่ถวายพระเพลิงกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่ง ในต้นสมัยอยุธยา เป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ถูกพม่าทำลาย และยังคงสภาพที่ดีมาก เพราะพม่าได้ไปตั้งกองบัญชาการอยู่ที่วัดนี้ พระอุโบสถเป็นแบบอยุธยาซึ่งมีเสาอยู่ภายใน แต่น่าจะมาเพิ่มเสารับชายคาที่หลังในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระประธานในอุโบสถซึ่งสร้างปลายสมัยอยุธยา เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องหล่อสำริดขนาดใหญ่ที่สุดที่ปรากฏและมีความงดงามมาก ด้านหลังพระอุโบสถยังมีอีกองค์หนึ่งแต่เล็กกว่า คือ พระศรีอริยเมตไตรย์
สิ่งสำคัญที่ปรากฏภายในวัดนี้ คือ พระอุโบสถและพระพุทธรูปประธานทรงเครื่องใหญ่ ซึ่งคงสร้างขึ้นราวรัชกาลของพระเจ้าปราททอง หน้าบันของพระอุโบสถเป็นไม้แกะสลักปิดทองที่แสดงรูปพระนารายณ์ทรงครุฑแวดล้อมด้วยเหล่าเทวดา คติดังกล่าวเป็นที่นิยมในสมัยโบราณที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ คือเป็นพระนารายณ์อวตาร ดังนั้น หน้าบันของโบสถ์ วิหาร หรือปราสาทราชวังที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างหรือทรงบูรณะก็มักจะทำรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเป็นสำคัญ อันมีความหมายว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดหลวง
ข้างๆ พระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ ยังมีวิหารน้อยหรือวิหารเขียน ซึ่งมีภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องการค้าสำเภาและพุทธชาดกต่าง ๆ แล้วยังมีพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทสมัยทวารวดีขนาดใหญ่ สลักจากหินปูนสีเขียวแก่ เรียกว่า "หลวงพ่อคันธารราฐ" ซึ่งมีอยู่ไม่กี่องค์ในเมืองไทยเวลานี้ ความเก่าแก่นั้นกล่าวได้ว่าเก่าแก่สมัยสุโขทัย ไล่เลี่ยกับยุคสมัยของบูโรพุทโธ หรือบรมพุทโธ บนเกาะชวาในอินโดนีเซียเมื่อกว่า 1,000 ปีมาแล้ว
Thank you : A . Lek Wara Id
No comments:
Post a Comment